รวมสาระน่ารู้ “โอนรถยนต์” สิ่งสำคัญที่คนซื้อขายรถยนต์มือสองต้องทำความเข้าใจ!
สำหรับใครที่กำลังสนใจการซื้อขายรถยนต์มือสองต้องมาตรงนี้ด่วนๆ เพราะวันนี้ Topfilm Thailand เราได้รวบรวมข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการโอนรถยนต์มาให้คุณที่นี่เรียบร้อย ขั้นตอนการโอนรถยนต์เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกระบวนการด้านเอกสารการซื้อขายรถยนต์ที่สำคัญอย่างมาก
ลองคิดดูว่าถ้าหากคุณเป็นเจ้าของรถยนต์และทำการขายต่อโดนไม่ได้ทำการโอนรถยนต์เปลี่ยนเจ้าของคันนั้นๆ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากผู้ที่ซื้อต่อนำรถยนต์ของคุณไปใช้ผิดกฎหมาย คุณก็อาจต้องเข้ารับโทษแบบงงๆ โดยปริยาย
ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ และดำเนินการซื้อขายได้อย่างราบรื่น
เรามาทำความเข้าใจกับการโอนรถยนต์กันเลยครับ !!
หลายคนยังสนใจ บทความน่ารู้เพิ่มเติม
โอนรถยนต์คืออะไร?
โอนรถยนต์ คือ การเปลี่ยนกรรมสิทธิ์เจ้าของรถยนต์ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการเปลี่ยนชื่อเจ้าของรถจากคนเก่าเป็นคนใหม่นั่นเอง มักดำเนินการเมื่อเกิดการซื้อขายรถยนต์มือสองหรือการส่งต่อรถยนต์คันนั้นๆ เป็นมรดกตกทอด ถือเป็นขั้นตอนสำคัญและเลี่ยงได้ยาก
ตัวอย่างผลเสียเมื่อไม่ทำการโอนรถยนต์ให้ถูกต้อง เช่น เจ้าของใหม่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันนั้นเต็มตัว ทำให้ดำเนินการด้านเอกสารอื่นๆ ลำบากหรือในกรณีที่เจ้าของใหม่นำรถยนต์ไปใช้ผิดกฎหมาย แต่รถยนต์ยังไม่ได้ทำการโอนจึงทำให้มีชื่อเจ้าของเก่าเป็นเจ้าของอยู่ คนที่จะโดนคดีความก็คือเจ้าของเก่า เป็นต้น
โอนรถยนต์ช้า มีค่าปรับอย่างไรบ้าง?
การเปลี่ยนเจ้าของรถยนต์จะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนของกรมการขนส่งทางบก ตามกฎหมายแล้วเมื่อโอนกรรมสิทธิ์จะต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายใน 15 วันโดยนับตั้งแต่วันโอน หากไม่ทำการแจ้งก็จะมีโทษปรับจำนวนไม่เกิน 2,000 บาทเลยทีเดียว
โอนรถยนต์ได้ที่ไหน? โอนรถยนต์มีกี่แบบ?
เนื่องจากการเปลี่ยนเจ้าของรถยนต์จะต้องแจ้งต่อกรมการขนส่งทางบก ขั้นตอนการโอนรถยนต์จึงสำคัญและเลี่ยงไม่ได้ ปัจจุบันการโอนรถยนต์ในประเทศไทยมี 2 แบบด้วยกันคือ
1. การโอนรถยนต์แบบโอนตรง
โอนตรง คือ การที่เจ้าของรถยนต์คนเก่าและคนใหม่ไปแจ้งโอนที่กรมการขนส่งหรือสำนักงานขนส่งที่ตรงตามป้ายทะเบียนของรถยนต์คันนั้นๆ ด้วยกัน โดยมีนายทะเบียนเป็นผู้ดำเนินการ ตัวรถยนต์ที่ทำการโอนจะต้องมีสภาพตรงตามที่บันทึกไว้ในสมุดเล่มทะเบียน หากมีการปรับเปลี่ยนส่วนใดจะต้องทำการตรวจสภาพเพื่อทำการบันทึกเข้าเล่มทะเบียนก่อนการดำเนินการโอน
แม้จะเป็นวิธีที่มีขั้นตอนการดำเนินการอย่างเคร่งขัดและใช้ระยะเวลาพอสมควร แต่การโอนรถยนต์แบบโอนตรงก็ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ช่วยทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสบายใจ ไม่ต้องกังวลถึงปัญหาอื่นๆ ที่อาจตามมาได้หากทำการโอนแบบอื่น
2. การโอนรถยนต์แบบโอนลอย
โอนลอย คือ การที่เจ้าของรถยนต์คนเก่าทำการเตรียมเอกสารสำหรับการโอนพร้อมทำการเซ็นชื่อเอาไว้โดยที่ยังไม่ลงชื่อผู้รับโอน เป็นวิธีการโอนรถยนต์ที่เหล่านายหน้าขายรถยนต์มือสองหรือเต็นท์รถนิยมใช้กัน เพราะเมื่อทำการขายรถยนต์คันนั้นๆ ได้แล้ว ผู้ซื้อรถยนต์ต่อมาก็สามารถนำเอกสารที่เจ้าของคนเก่าทำเอาไว้ไปดำเนินการแจ้งโอนกับกรมการขนส่งหรือสำนักงานขนส่งได้เลย
เป็นวิธีที่ง่าย ประหยัดเวลา เจ้าของรถยนต์คนเก่าไม่ต้องดำเนินการเองก็สามารถทำการโอนได้ แต่การโอนลอยก็มีความเสี่ยงในหลายๆ ทางด้วยกัน โดยเฉพาะคนที่เป็นเจ้าของเก่านั้นอาจมีคดีหรือใบสั่งปรับส่งมาถึงบ้านได้แบบไม่ทันตั้งตัวถ้าหากเจ้าของคนใหม่ไม่นำเอกสารไปทำการแจ้งโอนให้ถูกต้องและนำรถยนต์ไปใช้ก่อคดีหรือทำผิดกฎหมาย
ดังนั้นหากจำเป็นต้องทำการโอนรถยนต์ด้วยการโอนลอย เจ้าของรถยนต์คนเก่าควรร่างรายละเอียดในสัญญาซื้อขายให้รอบคอบ
โอนรถยนต์มีค่าธรรมเนียมอย่างไรบ้าง?
สำหรับใครที่สงสัยว่าโอนรถยนต์กี่บาทนั้น ปกติแล้วอัตราค่าธรรมเนียมที่กรมการขนส่งทางบกได้แจ้งเอาไว้เกี่ยวกับการดำเนินการเอกสารด้านต่างๆ สามารถเข้าตรวจสอบอย่างละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://www.dlt.go.th/th/fees-and-tariffs
สรุปแล้ว โอนรถยนต์ต้องเสียเงินเท่าไร? เราได้รวบรวมค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการโอนรถยนต์เบื้องต้นมีรายการที่ควรรู้มีดังนี้ครับ
- ค่าคำขอ ฉบับละ 5 บาท
- ค่าการโอนทะเบียนรถ ฉบับละ 100 บาท
- ค่าตรวจสภาพรถยนต์ 50 บาท
- ค่าอากรแสตมป์ 500 บาท คำนวณตามราคาประเมินรถยนต์ทุก 100,000 บาท
โอนรถยนต์แบบ “โอนตรง” ใช้เอกสารอะไรบ้าง?
เอกสารโอนรถยนต์ ต้องใช้เอกสาร 5 อย่าง ดังนี้
- เล่มทะเบียนรถยนต์ตัวจริง
- สัญญาการซื้อขายรถยนต์ ใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษี
- สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของรถ (ผู้โอน)
- สำเนาบัตรประชาชนของผู้ที่ซื้อรถ (ผู้รับโอน)
- เอกสารแบบคำขอโอนและรับโอนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ของกรมการขนส่งทางบก ดาวน์โหลดได้ที่นี่
หากเป็นนิติบุคคลให้เตรียมหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล พร้อมทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจในการลงนามแทนสำเนาบัตรประชาชน
โอนรถยนต์แบบ “โอนลอย” ใช้เอกสารอะไรบ้าง?
เอกสารโอนลอยรถรถ มีอะไรบ้าง? ต้องใช้เอกสาร 6 อย่าง ดังนี้
- เล่มทะเบียนรถยนต์ตัวจริง
- สัญญาการซื้อขายรถยนต์ ใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษี
- สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของรถ (ผู้โอน)
- สำเนาบัตรประชาชนของผู้ที่ซื้อรถ (ผู้รับโอน)
- เอกสารแบบคำขอโอนและรับโอนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ของกรมการขนส่งทางบก ดาวน์โหลดได้ที่นี่
- หนังสือมอบอำนาจเกี่ยวกับทะเบียนรถยนต์ ของกรมการขนส่งทางบก ดาวน์โหลดได้ที่นี่ โดยผู้มอบอำนาจจะต้องทำการแนบสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนมาด้วย (ผู้รับมอบอำนาจไม่สามารถส่งอำนาจต่อได้)
หากเป็นนิติบุคคลให้เตรียมหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล พร้อมทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจในการลงนามแทนสำเนาบัตรประชาชน
กรณีโอนรถยนต์เป็นมรดกต้องดำเนินการอย่างไร
นอกจากการโอนตรงและโอนลอยซึ่งเกี่ยวกับการซื้อขายรถยนต์มือสองแล้ว การโอนรถยนต์เป็นมรดกกรณีเจ้าของเสียชีวิต เช่น โอนจากพ่อให้ลูก โอนจากพี่ให้น้อง ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรทำความเข้าใจเอาไว้ สามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณีด้วยกันคือ
1. สำหรับกรณีที่ไม่มีพินัยกรรมหรือคำสั่งศาลให้จัดตั้งผู้จัดการกองมรดก – ทายาทสามารถเข้ามาติดต่อที่สำนักงานขนส่งเพื่อรับหนังสือต่างๆ ได้โดยมีเอกสารที่ต้องเตรียมดังนี้
- เล่มทะเบียนรถยนต์ตัวจริง
- สำเนาใบมรณบัตรของเจ้าของรถยนต์
- สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับโอน
- หนังสือรับรองผลการสอบปากคำทายาทจากสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอตามที่ผู้เสียชีวิตมีชื่ออยู่ เบื้องต้นจะมีการเรียกทายาทเพื่อสอบปากคำ มีระยะเวลา 30 วันให้ทำการคัดค้าน หากไม่มีปัญหาใดก็จะได้หนังสือรับรองส่วนนี้มาใช้งาน
2. สำหรับกรณีแต่งตั้งผู้จัดการกองมรดก มีคำสั่งศาล – เตรียมเอกสารเพื่อทำการรับโอนดังนี้
- เล่มทะเบียนรถยนต์ตัวจริง
- สำเนาใบมรณบัตรของเจ้าของรถยนต์
- สำเนาคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดก
- หลักฐานประจำตัวผู้จัดการกองมรดกในฐานะผู้โอนและของผู้รับโอน กรณีบุคคลธรรมดาสามารถใช้ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำหรับนิติบุคคลใช้หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล
สรุปขั้นตอนการโอนรถยนต์
สรุป ขั้นตอนการโอนรถยนต์ มี 5 ขั้นตอนดังนี้
- ตรวจสอบสถานที่ที่ต้องการทำโอนรถยนต์ในเขตที่เราจดทะเบียนรถเอาไว้
- เตรียมเอกสารทั้งหมดให้เรียบร้อยเพื่อยื่นคำขอโอนรถยนต์อย่างถูกต้อง
- นำรถยนต์เข้าตรวจสภาพ
- ยื่นเอกสารและทำการชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ
- รับใบเสร็จ คู่มือการจดทะเบียน เครื่องหมายเสียภาษีและทะเบียนรถยนต์เป็นอันเสร็จสิ้น
โอนรถยนต์ข้ามจังหวัด สามารถทำได้หรือไม่?
ที่จริงแล้วการโอนรถยนต์นั้นสามารถทำแบบข้ามจังหวัด “ได้” เช่นกัน อย่างไรก็ตามการโอนรถยนต์ข้ามจังหวัดจะมีขั้นตอนและระยะเวลาเพิ่มเติมเข้ามา เบื้องต้นผู้โอนจะต้องแจ้งย้ายที่จังหวัดต้นทางเสียก่อน ขั้นตอนนี้ใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 วันหรือตามที่กรมการขนส่ง/สำนักงานขนส่งแจ้ง เมื่อมีคำสั่งอนุมัติให้ทำการโอนย้ายแล้วถึงจะสามารถนำรถยนต์เข้าตรวจสภาพจากนั้นจึงแจ้งย้ายเข้าไปที่จังหวัดใหม่ที่ต้องการได้เลย
สรุป
การโอนรถยนต์คือเปลี่ยนชื่อเจ้าของรถจากคนเก่าเป็นคนใหม่ มีความสำคัญในการซื้อขายรถมือสองเป็นอย่างมาก การโอนรถยนต์มี 2 แบบคือโอนตรงและโอนลอย โอนตรงทำที่กรมการขนส่ง ส่วนโอนลอยเหมาะกับนายหน้า ซึ่งต้องทำภายใน 15 วันหลังโอนเสร็จ หลังจากซื้อขายรถกันแล้วเราควรโอนรถยนต์อย่างถูกต้องเพื่อเลี่ยงความสบายใจและหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ครบแล้วนะครับ กับสาระน่ารู้เกี่ยวกับการโอนรถยนต์ หากคุณมีการทำความเข้าใจตั้งแต่เนิ่นๆ พร้อมทั้งเตรียมเอกสารให้ตรงกับความต้องการในการโอนรถรูปแบบนั้นๆ บอกเลยว่าการโอนรถจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แถมยังใช้เวลาเพียงไม่นานก็สามารถโอนรถได้สำเร็จอย่างแน่นอน
หลายคนยังสนใจ บทความน่ารู้เพิ่มเติม
- ติดฟิล์มรถยนต์ ยี่ห้อไหนดี?
- ฟิล์มดำกับฟิล์มเซรามิค ต่างกันอย่างไร?
- รวมความฝันเกี่ยวกับรถยนต์ มีอะไรบ้าง?